ธันวาคม 23, 2024

แจ้งข่าวศรีสะเกษ – jangkao.com

AIS อุ่นใจไซเบอร์ ส่งแคมเปญกระตุกเตือนสังคม ชี้ “มีความรู้ก็อยู่รอด”

AIS เปิดตัวแคมเปญสื่อสาร พร้อมหนังโฆษณาชุดใหม่ล่าสุดภายใต้แนวคิด “มีความรู้ก็อยู่รอด” ตอกย้ำภารกิจเพื่อนคู่คิดดิจิทัล เพื่อคนไทยทุกเจนเนอเรชัน ในฐานะผู้ให้บริการดิจิทัลอันดับ 1 ของไทยที่พร้อมเป็นกลไกช่วยผลักดันและส่งเสริมการเติบโตเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการยกระดับสังคมการใช้งานดิจิทัลให้มีความปลอดภัยและสร้างสรรค์ โดยมุ่งชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของปัญหาจากภัยไซเบอร์ทุกรูปแบบ ที่วันนี้กำลังกลายเป็นปัญหาคอขาดบาดตาย ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย และสิ่งเดียวที่จะทำให้เราเอาชนะภัยไซเบอร์ได้ก็คือ “ความรู้” ซึ่งวันนี้สามารถเรียนรู้ได้ด้วยตัวเองกับหลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ จากการเดินหน้าทำงานร่วมกับทุกภาคส่วนทั้งกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุขในมิติของการร่วมสร้างสุขภาวะดิจิทัลที่ดี รวมถึงกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยีหรือ ตำรวจไซเบอร์ ในมิติการดำเนินการทางกฎหมายกับกลุ่มมิจฉาชีพ ทั้งหมดเพื่อขับเคลื่อนสังคมสู่การเป็นพลเมืองดิจิทัลที่สมบูรณ์แบบ

นางสายชล ทรัพย์มากอุดม หัวหน้าฝ่ายงานประชาสัมพันธ์ AIS อธิบายว่า “ภารกิจของ AIS อุ่นใจไซเบอร์ คือ การเดินหน้าทำงานเพื่อความยั่งยืนเพื่อสร้างทักษะดิจิทัล ใน 2 มิติ คือ 1) นำเทคโนโลยีมาพัฒนาในรูปแบบของบริการดิจิทัลที่ช่วยป้องกันภัยไซเบอร์ และ 2) สร้างภูมิปัญญา องค์ความรู้ เพื่อส่งเสริมและสร้างทักษะดิจิทัลให้คนไทยรู้เท่าทัน พร้อมอยู่กับโลกดิจิทัลได้อย่างปลอดภัยและสร้างสรรค์ โดยล่าสุดเราได้ เปิดตัวหลักสูตรการเรียนรู้ออนไลน์ “อุ่นใจไซเบอร์” ที่เป็นการผนึกกำลังร่วมกันระหว่างภาครัฐทั้งและเอกชน ยกระดับการเรียนการสอนในยุคดิจิทัล เพื่อปกป้องภัยไซเบอร์ สร้างภูมิคุ้มกันการใช้ชีวิตในโลกดิจิทัลยุคใหม่ตั้งแต่เด็กและเยาวชนไปจนถึงคนทั่วไป อันจะเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือป้องกันภัยร้ายจากโลกไซเบอร์

”“การทำงานอย่างต่อเนื่องทำให้เรามองเห็นถึงปัญหาที่ทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น สร้างผลกระทบต่อสังคม และในบางกรณีตามมาถึงขั้นสร้างความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สิน การปกป้องสร้างภูมิคุ้มกัน รวมถึงสร้างการตระหนักรู้ในเรื่องนี้ให้กับคนไทย จึงถือเป็นวาระเร่งด่วน และเป็นที่มาของการเปิดตัวแคมเปญการสื่อสารภายใต้แนวคิด “มีความรู้ก็อยู่รอด” เพราะเชื่อว่าสิ่งที่จะทำให้เราสู้กับทุกภัยไซเบอร์ได้คือ การมีความรู้ ซึ่งจะเป็นการตอกย้ำภารกิจและความมุ่งมั่นตั้งใจของ AIS ในการนำองค์ความรู้มาส่งต่อให้กับคนไทยได้ใช้เป็นอาวุธเพื่อรับมือกับภัยไซเบอร์ที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้งานออนไลน์ในหลากหลายรูปแบบ”

นายพลัช ร่มไทรย์ ผู้กำกับภาพ Phenomena อธิบายเสริม ในฐานะที่เข้ามาร่วมทำงานกับ AIS อุ่นใจไซเบอร์ ว่า “ถือเป็นโจทย์ที่สนุกและท้าทายสำหรับพวกเราในการที่จะสื่อสารเรื่องภัยไซเบอร์ให้ออกมาแล้วสามารถสร้างความเข้าใจให้กับผู้ชมได้ในวงกว้าง โดยเราเลือกที่จะชี้ให้เห็นว่าภัยเหล่านี้ เป็นปัญหาใหญ่แบบคอขาดบาดตาย ที่ทุกคนอาจจะตายได้หากไม่รู้ ไม่เข้าใจ และไม่มีวิธีรับมือ ซึ่งสิ่งเดียวที่จะช่วยให้รอดได้ก็คือ ความรู้ โดยเราเลือกใช้วิธีเล่าเรื่องแนวตลก สยองขวัญ ผ่านตัวละครผีที่โดนภัยไซเบอร์ในรูปแบบใกล้ตัวทำร้าย จนถึงขั้นเสียชีวิต เพื่อสื่อให้เห็นว่าทุกคนมีโอกาสตกเป็นเหยื่อจากการใช้งานออนไลน์หรือแม้แต่สื่อดิจิทัลได้ตลอดเวลา และ “ความรู้” เท่านั้นจะช่วยให้อยู่รอดได้”

ทางด้าน แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวถึงสถานการณ์ภาพรวมด้านสุขภาพจิตของคนไทยโดยเฉพาะในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมการใช้งานสื่อออนไลน์ที่ส่งผลต่อสุขภาวะดิจิทัลไว้อย่างน่าสนใจว่า “การอยู่รอดและมีสุขภาพดี หมายรวมถึงการมีสุขภาพกายและสุขภาพใจที่ดี ซึ่งวันนี้ยังมีคนไทยและเยาวชนมากมาย ที่เจอปัญหาภัยไซเบอร์และไม่สามารถรับมือได้อย่างเหมาะสม กรมสุขภาพจิต จึงมุ่งสื่อสารให้ทุกคนเข้าใจถึงทักษะด้านดิจิทัล โดยเฉพาะ Digital Literacy พร้อมๆกับการทำงานร่วมกับทุกภาคส่วน เพื่อสร้างการตระหนักรู้ เพราะวันนี้คิดว่าถึงเวลาแล้ว ที่เราจะต้องมาร่วมกันหยุดปัญหานี้เพื่อลดความสูญเสียทั้งต่อจิตใจ ชีวิต และทรัพย์สิน ด้วยการเสริมสร้างองค์ความรู้ที่จะอยู่รอดได้อย่างดีในโลกยุคดิจิทัลปัจจุบัน ก่อนที่จะแก้ไขไม่ทัน”

นอกเหนือจากการสร้างทักษะดิจิทัลที่ดีเพื่อรับมือกับปัญหาการกลั่นแกล้ง การล้อเลียน การไซเบอร์บูลลี่ หรือปัญหาที่ส่งผลต่อสุขภาวะของผู้คนแล้ว การมีความรู้ยังช่วยทำให้เราป้องกันภัยที่เกิดขึ้นจากกลุ่มมิจฉาชีพที่หวังใช้โอกาสจากเทคโนโลยีในการหลอกลวงจนนำไปสู่ความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินในที่สุดด้วย โดย พล.ต.ต.นิเวศน์ อาภาวศิน รองผู้บัญชาการ กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ให้ความคิดเห็นในเรื่องนี้ว่า “การป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ถือเป็นภารกิจหลักของ กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ซึ่งหัวใจสำคัญที่จะทำให้ภารกิจนี้สำเร็จได้คือพี่น้องประชาชนต้องมีสติรู้เท่าทันกลลวงของมิจฉาชีพ ผมเชื่อว่าถ้าเราร่วมกันสื่อสาร และสร้างองค์ความรู้ให้ประชาชนมีสติรู้เท่าทันโดยต้อง ไม่เชื่อ สรรพคุณอวดอ้างหรือการชักจูงในทุกรูปแบบ ไม่คุยกับสายที่ไม่มั่นใจ ไม่ให้ข้อมูลส่วนตัว ไม่โอนเงินให้กับคนที่ไม่รู้จักผ่านการรับสายอย่างเด็ดขาด หากเข้าใจกระบวนการและวิธีการปฏิเสธได้ ความรู้เหล่านี้จะเป็นภูมิคุ้มกันชั้นดีที่ทำให้เราปลอดภัยจากโลกไซเบอร์ได้”ติดตามแคมเปญ “มีความรู้ก็อยู่รอด” ได้ที่ Facebook: AIS Sustainability และรับชมหนังโฆษณาชุดใหม่ล่าสุดได้ที่ https://m.ais.co.th/rxHnoozSJ

error: Content is protected !!