แกนนำชาวบ้านโต้ กรมชลฯ ไม่พบร่องรอยดินสไลด์ (คลิป)

จากกรณีที่ นายจิรเดช ศิลารักษ์ อายุ 58 ปี ชาวบ้านในพื้นที่ ต.เมืองคง อ.ราษีไศล จ.ศรีสะเกษ และคณะ นำเอกสารพร้อมภาพถ่ายเข้าร้องเรียนกับ นายสายัญต์ ยมราช ประธานชมรม STRONG จังหวัดศรีสะเกษ ซึ่งเป็นองค์กรภาคประชาชน เครือข่ายของ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ประจำจังหวัดศรีสะเกษ ที่สำนักงาน (ป.ป.ช.) ประจำจังหวัดศรีสะเกษ เพื่อขอให้ตรวจสอบ การดำเนินการก่อสร้างโครงการของรัฐ โครงการก่อสร้างสถานีสูบน้ำด้วยระบบไฟฟ้าพร้อมระบบส่งน้ำ และโครงการขุดลอกร่องน้ำตามธรรมชาติที่ตื้นเขิน งบประมาณกว่า 13,000,000 บาท ซึ่งอยู่ในพื้นที่ของโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษามูลล่าง (เขื่อนราษีไศล) เขตชลประทาน สำนักงานชลประทานที่ 8 บ้านเหล่าโดน ต.หนองแค อ.ราษีไศล จ.ศรีสะเกษ


หลังชาวบ้านเกิดความสงสัยว่า โครงการดังกล่าวอาจส่อต่อการทุจริตทำผิดรูปแบบโครงการและทำงานยังไม่แล้วเสร็จ แต่ได้มีการเบิกจ่ายเงินงบประมาณไปหมดแล้ว โดยเฉพาะโครงการขุดลอกร่องน้ำตามธรรมชาติที่ตื้นเขิน ซึ่งมีความยาวประมาณ 500 เมตร แต่ดำเนินการขุดจริงประมาณ 300 เมตร และอีก 200 เมตร ยังอยู่ในสภาพเดิม ทั้งที่จริงโครงการทั้งสองโครงการนี้ มีเป้าหมายเพื่อให้ประชาชนได้ใช้น้ำในช่วงฤดูแล้ง แต่ปรากฏว่า กลับดำเนินการขุดลอกไม่แล้วเสร็จ ตามภาพที่ปรากฏ เนื่องจากพบกองดินเป็นเนินสูงโผล่อยู่กลางน้ำ มองเห็นได้อย่างชัดเจน บริเวณริมด้านทิศตะวันตก มีลักษณะคล้ายกับการขุดลอกยังไม่แล้วเสร็จระยะทางประมาณ 200 เมตร ซึ่งสร้างความไม่สบายใจให้กับชาวบ้านในพื้นที่ ตามที่ข่าวนำเสนอไปแล้วนั้น


ล่าสุด เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. ทางกรมชลประทาน โดย ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน ได้มีหนังสือข่าวประชาสัมพันธ์ ของกรมชลประทาน ชี้แจงกรณีดังกล่าวว่า งานก่อสร้างสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้า (แพลอยน้ำ) พร้อมขุดลอกร่องชักน้ำและระบบท่อส่งน้ำเข้าสู่พื้นที่เกษตรกรรม ในพื้นที่บ้านเหล่าโดน หมู่ที่ 10 ต.หนองแค อ.ราษีไศล จ.ศรีสะเกษ หน้าเขื่อนราษีไศล วงเงินทั้งสิ้น 13,599,360 บาท ดำเนินการโดยโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษามูลล่าง เพื่อช่วยเหลือและบรรเทาปัญหาขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้ง


สำหรับในกรณีที่มีการนำเสนอภาพสันดอนดิน ที่กล่าวว่าเป็นงานดินที่ขุดไม่เสร็จนั้น ขอชี้แจงว่า เป็นสภาพของลาดคันดินด้านข้างที่พังทลายลงมา หลังจากเกิดฝนตกหนักในหลายพื้นที่ ภายหลังที่ได้มีการส่งมอบงานไปแล้ว ทางโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษามูลล่าง ได้ทำหนังสือแจ้งผู้รับจ้างเข้าไปดำเนินการแก้ไขโดยเร็วที่สุดแล้ว ขอยืนยันว่าการดำเนินการโครงการดังกล่าวในทุกกิจกรรมเป็นไปด้วยความโปร่งใส และสามารถตรวจสอบได้


ด้าน นายจิรเดช ศิลารักษ์ อายุ 58 ปี ชาวบ้านในพื้นที่ กล่าวว่า ตนได้เห็นหนังสือข่าวประชาสัมพันธ์ของกรมชลประทานแล้ว รู้สึกไม่สบายใจ เนื่องจากคำชี้แจงค่อนข้างที่จะง่ายเกินไป ที่มีการชี้แจงว่า “ภาพสันดอนดินที่ปรากฏ เป็นสภาพของลาดคันดินด้านข้างที่พังทลายลงมา หลังจากเกิดฝนตกหนักในหลายพื้นที่ ภายหลังที่ได้มีการส่งมอบงานไปแล้ว” นั้น หากเป็นกรณีลาดคันดินพังทลายลงมานั้น เหตุใดคันดินพร้อมหญ้าแฝกที่มีการปลูกไว้รอบสระน้ำ ยังคงอยู่ในสภาพเดิม ไม่มีร่องรอยของการพังทลายลงมาแต่อย่างใด


ซึ่งถ้าเกิดจากการพังทลายของคันดิน ขอบคันคูดินบริเวณดังกล่าว ต้องอยู่ในสภาพดินสไลด์เป็นร่องรอยให้เห็น แต่จากภาพที่ปรากฎกลับเป็นในลักษณะคล้ายกับไม่ได้ขุดขึ้นมาหรือขุดลอกยังไม่เสร็จ เพราะดินที่ไปกองอยู่กลางน้ำเป็นลักษณะกองขึ้นสูง ไม่ใช่การไหลสไลด์ลงไปตามที่ทางฝ่ายประชาสัมพันธ์กรมชลประทานชี้แจง ซึ่งตนมีความคิดเห็นว่า กรมชลประทาน น่าจะมีความตั้งใจใส่ใจในการทำหน้าที่ในการตรวจสอบข้อเท็จจริงมากกว่านี้ น่าจะลงมาตั้งกรรมการสอบหาข้อเท็จจริง ไม่ใช่แค่บ่ายเบี่ยงไปแจ้งให้ผู้รับจ้างมาแก้ไข จึงเท่ากับเป็นการทำลายหลักฐานที่ตนกล่าวหา.