AIS เตือน! ระวังมิจฉาชีพฉวยโอกาส ใช้ความสับสนช่วงลงทะเบียนรับสิทธิ์ต่างๆ

สร้างกลโกงออนไลน์ ภัยไซเบอร์รูปแบบใหม่ “ลวงให้กรอก หลอกให้กด”

ท่ามกลางความสับสนของข้อมูลในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่สร้างผลกระทบกับผู้คนในทุกสาขาอาชีพ ทำให้กลุ่มมิจฉาชีพใช้เรื่องดังกล่าวมาเป็นเครื่องมือในการสร้างกลลวงกับประชาชน สร้างความเสียหายจากภัยไซเบอร์ในช่วงนี้มากมาย AIS โดย AIS อุ่นใจCyber คู่คิดดิจิทัล เพื่อคนไทยทุกเจเนอเรชัน ได้เฝ้าระวังและเห็นพฤติกรรมของมิจฉาชีพและกลโกงออนไลน์ จึงขอเป็นอีกหนึ่งเสียงเตือนคนไทยระวังภัยไซเบอร์ที่มาในรูปแบบของฟิชชิ่ง (Phishing) “ลวงให้กรอก หลอกให้กด” ซึ่งอาจทำให้สูญเสียข้อมูลส่วนตัว จนสร้างความเสียหายให้กับชีวิตและทรัพย์สินได้

นางสายชล ทรัพย์มากอุดม หัวหน้าฝ่ายงานประชาสัมพันธ์ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS  กล่าวว่า “จากการเฝ้าระวังของ AIS อุ่นใจCyber ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา รวมถึงการรับแจ้งร้องเรียนจากกลุ่มลูกค้า ทำให้เราเห็นถึงพฤติกรรมการหลอกลวงของมิจฉาชีพที่มาในรูปแบบของ Phishing ที่เป็นลักษณะของลิงค์ผ่าน SMS โดยใช้ข้อความลวงให้กรอกข้อมูลส่วนตัวจากสถานการณ์ความสับสนของข้อมูลในปัจจุบันเช่น แจกเงินเข้าบัญชี, แจกสติ๊กเกอร์ หรือแม้แต่แจกวัคซีน COVID-19 ยกตัวอย่างบางรายได้รับ SMS ปลอม ว่าได้รับเงินจำนวน 100,000 โดยอ้างถึงธนาคารต่างๆ พร้อมแสดงโลโก้ หรือลิงค์ชื่อธนาคารที่มีการปรับเปลี่ยนบางส่วนจนสังเกตได้ยาก หรือมีบางรายได้รับข้อความว่าเป็นผู้โชคดีได้รับการฉีดวัคซีน จนนำไปสู่การหลอกให้กดลิงก์เพื่อยืนยัน ซึ่งเป็นการใช้ความสับสนของประชาชนมาเป็นกลลวงที่อาจนำมาซึ่งความเสียหายได้ ทั้งทรัพย์สิน และการโจรกรรมข้อมูลส่วนบุคคล”

AIS อุ่นใจCyber มีความห่วงใยคนไทยอย่างมาก เพราะรูปแบบการหลอกลวงในวันนี้มาพร้อมกับข้อมูลความเดือดร้อนท่ามกลางสถานการณ์ปัจจุบัน จึงขอเน้นย้ำว่าหากได้รับลิงค์ผ่าน SMS เกี่ยวกับรางวัล หรือการเป็นผู้โชคดีต่างๆ ขอให้ตั้งสติ อย่าตกใจ อย่าเพิ่งเชื่อในสิ่งที่เห็น ต้องตรวจสอบลิงค์ที่ได้รับว่าจริงหรือไม่ มีคำหรือภาษาแปลกๆ ที่ไม่ตรงกับสิ่งที่ส่งมาหรือไม่ สมเหตุ สมผลหรือเปล่า ที่สำคัญอย่าเพิ่งกดลิงค์นั้นโดยทันที โดยหากไม่แน่ใจสามารถโทรสอบถาม AIS Call Center 1175 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

นางสายชล กล่าวทิ้งท้ายว่า “AIS อุ่นใจCyber ยังคงยึดมั่น เคียงข้างลูกค้าและคนไทย ให้ใช้สมาร์ทโฟน โซเชียลอย่างปลอดภัย ไม่ตกเป็นเหยื่อของภัยไซเบอร์ที่ปรับเปลี่ยนรูปแบบอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะรูปแบบของฟิชชิ่ง ที่กำลังระบาดในกลุ่มมิจฉาชีพ ซึ่งหากเรารู้เท่าทันการหลอกลวงนี้ ก็จะทำให้คนไทยสามารถใช้โซเชียลได้อย่างเกิดประโยชน์สูงสุดท่ามกลางสถานการณ์ที่วันนี้ Online เป็น Platform หลักทั้งการใช้ชีวิตและทำงาน”